เครื่องมือพื้นฐาน

ตอนที่ 1 แนะนำความสามารถเด่นๆ
ตอนที่ 2 รู้จักเครื่องมือในการแต่งภาพ
ตอนที่ 3 การใช้งานร่วมกับ โปรแกรมเวกเตอร์
ตอนที่ 4 ใช้งานทำเว็บร่วมกับ Image Ready7และ Dreamweaver
ตอนที่ 5 เปรียบเทียบ Photoshop

หลังจากได้รู้จักกับความสามารถใหม่ๆ ของ Photoshop 7.0 กันไปแล้ว มาในตอนนี้ เราจะศึกษากันถึงการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานใน Photoshop 7.0 ซึ่งจะกล่าวถึงทุกเครื่องมือกันเลยทีเดียวนะครับ

ในการใช้งาน Photoshop 7.0 เราจะต้องรู้จักกับการใช้งานเครื่องมือของโปรแกรมกันก่อน เพราะถ้าพื้นฐานในเรื่องนี้ดีแล้ว การตกแต่งภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดของ Photoshop 7.0 จะอยู่ที่กล่องเครื่องมือ (Toolbox) ดังรูปที่ 1

เลือกส่วนของภาพ

การตกแต่งภาพ เราอาจจะแต่งในภาพเพียงภาพเดียว หรือนำหลายๆ ภาพมาตกแต่งร่วมกัน โดยเลือกบางส่วนในแต่ละภาพมาประกอบกัน เราสามารถเลือกส่วนของภาพนั้นได้ด้วยเครื่องมือที่ชื่อ Marquee Tool ซึ่งเป็นเครื่องมือตัวแรก ของชุดเครื่องมือ ประกอบด้วย

Rectangle Maquee Tool สำหรับเลือกส่วนของภาพในแบบสี่เหลี่ยมตามที่ต้องการ สังเกตว่าที่เครื่องมือนี้ จะมีเครื่องหมายสามเหลี่ยม อยู่ที่มุมล่างด้านขวา แสดงว่าจะมีเครื่องมือในแบบเดียวกันซ่อนอยู่ด้วย โดยเราสามารถเรียกใช้ด้วยการคลิ้กเมาส์ค้างไว้ ก็จะปรากฏเครื่องมือต่างๆ ที่อยู่ในชุดนี้ขึ้นมา

Elliptical Maquee Toolใช้สำหรับเลือกส่วนของภาพในแบบวงกลมหรือวงรีตามที่ต้องการ

Single Row Maquee Toolใช้สำหรับเลือกส่วนของภาพในแบบ 1 พิกเซล ตามแนวนอน

Single Column Maquee Tool ใช้สำหรับเลือกส่วนของภาพในแบบ 1 พิกเซล ตามแนวตั้ง

รูปที่ 2 เลือกส่วนของภาพด้วยเครื่องมือแบบสี่เหลี่ยม และวงรี ตามลำดับ

ย้ายส่วนของภาพ

เมื่อเลือกส่วนของภาพได้แล้ว เราจำเป็นที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายส่วนของภาพนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของเครื่องมือ Move Tool

 

Move Toolสำหรับเคลื่อนย้ายภาพหรือส่วนของภาพที่เราต้องการ ไปยังตำแหน่งใหม่ หรือไปตกแต่งร่วมกับภาพอื่น การใช้งานเพียงแค่คลิ้กเมาส์ที่ส่วนนั้น แล้วลากไปปล่อยทิ้งในตำแหน่งที่ต้องการ

เลือกส่วนของภาพแบบอิสระ

ในการตกแต่งภาพจริงๆ นั้น มักจะมีการเลือกแบบอิสระ หรือตามรูปร่างของบริเวณภาพที่ต้องการ ซึ่งเราสามารถเลือกได้ด้วยเครื่องมือ Lasso Tool โดยเครื่องมือในชุดนี้ จะประกอบด้วยเครื่องมือ 3 ตัวด้วยกัน คือ

 

Lasso Tool สำหรับเลือกส่วนของภาพแบบอิสระ ด้วยการคลิ้กเมาส์ค้างไว้ แล้วลากคลุมบริเวณที่เราต้องการ จนแนวเส้นการลากมาบรรจบกันอีกครั้ง ก็จะได้ขอบเขตการเลือกภาพที่ต้องการ สามารถใช้เครื่องมือ Move Tool ในการย้ายเพื่อตกแต่งต่อไปได้

 

Polygonal Lasso Tool สำหรับเลือกส่วนของภาพแบบอิสระ เช่นเดียวกับ Lasso Tool แต่เป็นการเลือกแบบทีละจุด ไปเรื่อยๆ ด้วยการคลิ้กเมาส์ที่จุดแรก แล้วปล่อย แล้วจึงค่อยคลิ้กที่จุดต่อๆ ไป จนแนวเส้นที่คลิ้ก มาบรรจบกันอีกครั้ง

 

Magnetic Lasso Tool สำหรับเลือกส่วนของภาพแบบอิสระ เช่นเดียวกับ Lasso Tool แต่เป็นการเลือกแบบเช็กค่าสีของภาพ เราเพียงแค่คลิ้กเมาส์ที่จุดแรก แล้วปล่อย จากนั้นลากเมาส์ไปเรื่อยๆ ให้ใกล้กับบริเวณที่เราต้องการ เครื่องมือนี้จะไล่ไปตามขอบเขตอัตโนมัติ แบบแม่เหล็ก ทำให้การเลือกภาพทำได้ง่ายและรวดเร็ว

เลือกภาพแบบรวดเร็ว

เมื่อเลือกส่วนของภาพด้วยชุดเครื่องมือ Lasso Tool ได้แล้ว แต่ในบางครั้ง ถ้าภาพที่เราตกแต่งมีขอบเขตและบริเวณที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ภาพบนพื้นหลังสีขาว ก็สามารถใช้เครื่องมือ Magic Wand Tool ได้เลยครับ สะดวกและรวดเร็วกว่าเป็นไหนๆ

Magic Wand Tool

สำหรับเลือกส่วนของภาพแบบเช็กช่วงหรือขอบเขตของสีภายในภาพ ทำให้การเลือกส่วนของภาพทำได้สะดวกและรวดเร็วมาก เพียงแค่คลิ้กเมาส์ลงไปยังบริเวณที่ต้องการเท่านั้น ก็จะเป็นการเลือกทันที ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 เลือกฉากหลังของภาพด้วย Magic Wand Tool

เลือกเฉพาะภาพที่ต้องการ

การตกแต่งภาพ อาจได้มาจากภาพที่แสกนหรือจากกล้องดิจิตอล แน่นอนว่าบางครั้ง อาจได้บริเวณที่ไม่ต้องการมาด้วย จำเป็นต้องตัดเอาเฉพาะบริเวณที่ใช้งานจริงเท่านั้น หน้าที่นี้เป็นของ Crop Tool

 

Crop Tool สำหรับตัดภาพ เอาเฉพาะบริเวณที่ต้องการเท่านั้น ด้วยการคลิ้กแล้วลากเมาส์คลุมบริเวณที่ต้องการในแบบสี่เหลี่ยม แล้วกดคีย์ Enter หรือดับเบิลคลิ้กภายในขอบเขตขอภาพที่เลือก เท่านั้นก็เรียบร้อยแล้ว

แบ่งภาพออกเป็นชิ้นเล็กๆ

โปรแกรม Photoshop ตั้งแต่เวอร์ชัน 5.5 ขึ้นมา จะมีส่วนของการทำงานที่รองรับเว็บมากมาย และก็จะมีเครื่องมือหนึ่ง ที่ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ นั่นคือ Slice Tool ที่ใช้สำหรับตัดภาพออกเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

Slice Tool สำหรับตัดภาพออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ตามการลากของเมาส์ เพียงแค่ลากคลุมแบบสี่เหลี่ยมที่บริเวณที่ต้องการ ภาพจะถูกตัดแบ่งออกเป็นส่วนเล็กๆ ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ พร้อมกับเราสามารถบันทึก และโปรแกรมจะสร้างโค้ด HTML สำหรับภาพที่ตัดนี้ โดยอัตโนมัติ ทำให้การโหลดภาพบนเว็บเพจที่เราออกแบบ ทำได้อย่างรวดเร็วมากๆ เราคงพบเห็นเทคนิคการ Slice นี้บ่อยๆ เวลาที่เยี่ยมชมเว็บไซต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต

 

Slice Select Tool สำหรับเลือกส่วนของภาพที่ได้ตัดออกมาแล้วด้วย Slice Tool เพื่อทำการปรับแต่งต่างๆ ต่อไป ดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 ตัดภาพออกเป็นส่วนๆ ด้วย Slice Tool โดยจะมีไฟล์ HTML ควบคุมอยู่

ลบจุด ริ้วรอย และตำหนิของภาพ

ใน Photoshop 7.0 เปิดตัวเครื่องมือใหม่ Heal Tool ที่ใช้ในเรื่องของการลบจุดตำหนิ ต่างๆ ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

Healing Brush Tool สำหรับคัดลอก หรือก๊อบปี้พื้นที่ที่เราต้องการ มายังตำแหน่งที่เราต้องการที่เป็นจุดตำหนิ โดยยังคงรักษาคุณสมบัติของแสง เงา ไว้ได้ เราจึงนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการลบจุด ริ้วรอย หรือตำหนิต่างๆ บนภาพ จะใช้มากในเรื่องของการตกแต่งใบหน้าคน หรือที่เรียกว่าการ Retouch ภาพ

 

Patch Tool การทำงานคล้ายกับ Healing Brush ต่างกันที่จะเป็นการนำพื้นที่ๆ เราเลือกด้วยเครื่องมือสำหรับทำการเลือก (Selection) ต่างๆ อย่าง Lasso Tool มาปะลงยังจุดที่มีตำหนิ ซึ่งมีความแนบเนียน และกลมกลืนไม่แพ้กัน โดยผู้อ่านสามารถดูการใช้งานเครื่องมือทั้ง 2 ชิ้นนี้อย่างละเอียดได้ในตอนที่ 1 “เจาะความสามารถใหม่สุดยอดโปรแกรมแต่งภาพ Photoshop 7.0”

ระบายภาพ และเขียนเส้น

การระบายภาพและวาดเส้น เป็นการตกแต่งภาพพื้นฐานสำหรับโปรแกรมตกแต่งภาพ ใน Photoshop โดยจะมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

Brush Tool ระบายสีด้วยสีที่เลือกจากช่องสี //pic17.tif ใน Toolbox ด้วยการคลิ้กเมาส์ค้างไว้ แล้วลากไปมา ที่บริเวณของภาพที่ต้องการ

 

Pencil Tool วาดเส้นลงบนส่วนของภาพตามที่ต้องการ โดยมีลักษณะคล้ายกับการวาดภาพด้วยดินสอ ซึ่งสีเส้นจะเป็นไปตามสีที่กำหนดที่ช่องสีใน Toolbox เช่นเดียวกัน

คัดลอกส่วนของภาพ

การแต่งภาพ บางครั้งมีความจำเป็นต้องคัดลอกพื้นที่ส่วนของภาพใกล้เคียง มาทับที่บริเวณอื่น เช่น อาจนำมาใช้ในการลบจุดตำหนิที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือจะเป็นการเพิ่มองค์ประกอบของภาพเพิ่มเติมเป็นต้น ซึ่งเราจะใช้เครื่องมือ Stamp Tool สำหรับงานนี้ ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

Clone Stamp Tool สำหรับคัดลอกพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มเติม ด้วยการกดคีย์ Alt (Windows) หรือ Option (แมคอินทอช) ค้างไว้ แล้วคลิ้กที่ตำแหน่งที่ต้องการคัดลอกในภาพ เพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายก่อน จากนั้นจึงคลิ้กเมาส์แล้วระบายไปที่พื้นที่ใหม่ที่ต้องการนำภาพที่คัดลอก ไปวางไว้

 

Patern Stamp Tool สำหรับคัดลอกพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มเติม เช่นเดียวกันกับ Clone Stamp แต่การกำหนดเป้าหมายของพื้นที่ภาพที่คัดลอกจะต่างกัน โดยเราต้องทำการเลือกพื้นที่ที่ต้องการก่อน แล้วจึงเลือกเมนูคำสั่ง Edit > Define Pattern เพื่อกำหนดให้เป็นลวดลายที่ต้องการ จากนั้น จึงจะสามารถใช้เครื่องมือนี้ระบายเพื่อคัดลอกลวดลายที่เลือกไว้ได้ โดยการระบายจะเรียงต่อๆ กันไป

ยกเลิกการระบาย และวาดภาพ

หากระบายหรือวาดภาพแล้วเกิดผิดพลาด เช่น อาจจะระบายเกินไปยังบริเวณที่ไม่ต้องการ หรือเปลี่ยนใจต้องการยกเลิก เราสามารถใช้ History Brush Tool ช่วยได้ นี้ ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

History Brush Tool ยกเลิกการระบายภาพก่อนหน้า ด้วยการใช้เครื่องมือนี้ระบายทับลงไป เส้นหรือแนวระบายที่คุณวาดเอาไว้ก็จะหายไป กลับสู่ภาพต้นฉบับดังเดิม

 

Art History Brush Tool ทำหน้าที่คล้ายกับ History Brush ต่างกันตรงพื้นที่ที่ยกเลิกการวาดหรือระบาย จะมีลวดลายแบบสีน้ำมันเกิดขึ้น และเครื่องมือนี้ สามารถใช้ได้แม้จะไม่มีการระบายหรือวาดด้วยเครื่องมือใดๆ เราอาจประยุกต์ใช้ในลักษณะการสร้างแบ็กกราวนด์ของภาพได้

ลบส่วนของภาพแบบที่ไม่ต้องการ

แต่งภาพแล้วแน่นอนว่าต้องมีการลบส่วนของภาพที่ไม่ต้องการออกไป หรืออาจจะวาดหรือระบายภาพไปแล้วผิดพลาดก็ต้องลบทิ้งไป หน้าที่นี้เป็นของ Erasor Tool ซึ่งตั้งแต่เวอร์ชัน 6.0 ได้มีการพัฒนาเครื่องมือในชุดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีด้วยกัน 3 ตัว ประกอบด้วย

 

Erasor Tool สำหรับลบส่วนของภาพทิ้งไป ด้วยการระบายลงไปที่พื้นที่ที่ต้องการลบ โดยพื้นที่ที่ถูกลบจะถูกแทนด้วยสีด้านหลัง (Background) ที่อยู่ในช่องสี

 

Background Erasor Tool ลบส่วนของภาพทิ้งไป ด้วยการระบายลงไปที่พื้นที่ที่ต้องการลบ โดยพื้นที่ที่ถูกลบจะถูกแทนด้วยสีโปร่งใส (Transparent)

 

Magic Erasor Tool ลบส่วนของภาพทิ้งไป ด้วยการคลิ้กเพียงครั้งเดียว ลงไปที่พื้นที่ที่ต้องการลบ โดยพื้นที่ที่ถูกลบจะถูกแทนด้วยสีโปร่งใสเช่นเดียวกัน โดยจะตรวจสอบตามค่าสีเป็นหลัก คล้ายกับการทำงานของ Magic Wand ดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 ลบส่วนของภาพในแบบที่ต้องการด้วย Erasor, Background Erasor และ Magic Erasor

ระบายสีแบบไล่โทน และแบบปกติ

การระบายสีลงบนภาพ เป็นการแต่งภาพที่ทำกันบ่อยมาก มีทั้งแบบปกติและแบบไล่โทน ซึ่งเราจะใช้เครื่องมือ Gradient Tool และ Paint Bucket Tool เป็นหลัก ดังนี้

 

Gradient Tool ระบายสีลงบนภาพแบบไล่โทนสีจากสีด้านหน้าไปหาสีด้านหลัง ตามค่าสีที่กำหนด มักพบบ่อยในเรื่องของการทำแบ็กกราวนด์ภาพ

 

Paint Bucket Tool ระบายสีลงบนภาพแบบปกติ โดยสีที่ระบายลงไปจะเป็นสีด้านหน้าที่เรากำหนดไว้

ปรับแต่งภาพให้เบลอ หรือชัด

การตกแต่งภาพไม่ว่าจากการแสกน หรือกล้องดิจิตอล มักเกิดปัญหากับภาพ เช่น ไม่ชัด เป็นต้น หรือในการแต่งภาพให้ดูนุ่มนวล แนบเนียน ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เราสามารถใช้เครื่องมือ Blur, Sharpen และ Smudge Tool ช่วยได้ไม่ยาก ดังนี้

 

Blur Tool ทำภาพให้เบลอหรือมัวลงจากเดิม ด้วยการระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ สามารถประยุกต์ใช้ในการทำแบ็กกราวด์หรือส่วนของภาพให้ดูนุ่มนวลขึ้นได้

 

Sharpen Tool ทำภาพให้คมชัดขึ้น ด้วยการระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ สามารถประยุกต์ใช้ในการทำภาพที่ไม่ชัด จากการแสกนหรือจากกล้องดิจิตอลได้ ทำให้ภาพชัดเจน เห็นรายละเอียดมากขึ้น

 

Smudge Tool ตกแต่งบริเวณของภาพให้ดูแนบเนียนขึ้น ด้วยการลากระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ ใช้บ่อยๆ ในเรื่องของการ Retouch ภาพถ่าย

ปรับแต่งภาพ

การตกแต่งภาพให้ดูสวยงาม ด้วยการเพิ่มความสว่าง หรือเพิ่มความเข้มของภาพให้สีเข้มขึ้น รวมถึงการทำให้สีจางลงได้ด้วย Dodge, Burn และ Sponge Tool ตามลำดับ ดังนี้

 

Dodge Tool ทำภาพให้สว่าง ด้วยการระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ สามารถประยุกต์ใช้ทำให้ภาพสว่างเฉพาะส่วนที่ต้องการได้

 

Burn Tool ทำภาพให้มีสีเข้ม ด้วยการระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ สามารถประยุกต์ใช้ทำให้มีสีเข้มเฉพาะส่วนที่ต้องการได้

 

Sponge Tool ทำภาพให้มีสีจางหรือซีดลง ด้วยการระบายลงไปที่บริเวณที่ต้องการ สามารถประยุกต์ใช้ทำให้มีสีจางลงเฉพาะส่วนที่ต้องการได้

การเลือกพาธ (Path)

การเลือกส่วนของภาพสามารถทำได้ด้วยเครื่องมืออีกตัวคือ Pen Tool ที่จะกล่าวถึงต่อไป ซึ่งเมื่อเลือกแล้วจะมีจุดสี่เหลี่ยมล้อมรอบ เรียกว่าจุด “แองเคอร์” (Anchor) เราสามารถเลือกหรือแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือ Path Selection Tool ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 2 ตัว ประกอบด้วย

 

Path Selection Tool เลือกเส้นทาง Path ที่ได้ทำไว้ด้วยเครื่องมือ Pen Tool ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ตามต้องการ

 

Direct Selection Tool สำหรับเลือกจุดสี่เหลี่ยมบนเส้น Path เพื่อการปรับแต่ง เปลี่ยนรูปร่างของเส้นพาท ต่อไป

พิมพ์ข้อความในสไตล์คุณ

เราสามารถพิมพ์ข้อความลงบนภาพได้ ตามต้องการ โดยใน Photoshop 7.0 สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้แล้ว รองรับฟอนต์หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น JS, DS, PSL หรือตระกูล P5, P6 ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 4ตัว ประกอบด้วย

 

Horizontal Type Tool พิมพ์ข้อความแบบตัวอักษรแนวนอนปกติ ลงบนภาพตามที่ต้องการ

 

Vertical Type Tool พิมพ์ข้อความแบบตัวอักษรแนวตั้ง ลงบนภาพตามที่ต้องการ

 

Horizontal Type Mask Tool พิมพ์ข้อความแบบตัวอักษรโปร่งมีเพียงลายเส้นกรอบแบบแนวนอน ลงบนภาพตามที่ต้องการ

 

Vertical Type Mask Tool พิมพ์ข้อความแบบตัวอักษรโปร่งมีเพียงลายเส้นกรอบแบบแนวตั้ง ลงบนภาพตามที่ต้องการ

เลือกส่วนของภาพแบบซับซ้อน

นอกจากการเลือกส่วนของภาพด้วยเครื่องมือในชุด Lasso Tool แล้ว เรายังสามารถเลือกส่วนของภาพด้วยเครื่องมือ Pen Tool ได้อีกด้วย ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 5 ตัว ประกอบด้วย

Pen Tool เลือกส่วนของภาพที่ต้องการ ด้วยการคลิ้กเมาส์แล้วปล่อยที่จุดเริ่มต้น แล้วคลิ้กไปเรื่อยๆ จนคลุมบริเวณที่ต้องการ ก็จะได้แนวเส้นพาทล้อมรอบ

Freeform Pen Tool เลือกส่วนของภาพที่ต้องการแบบอิสระ ด้วยการคลิ้กเมาส์พร้อมกับลากเมาส์ไปคลุมรอบๆ บริเวณที่ต้องการ แล้วค่อยปล่อยเมาส์ ก็จะได้แนวเส้นพาทล้อมรอบ

Add Anchor Point Tool เพิ่มจุดแองเคอร์เพิ่มเติม เข้าไปที่เส้นพาท เพื่อการปรับแต่ง แนวเส้นเพิ่มเติม ตามต้องการ

Delete Anchor Point Tool ลบจุดแองเคอร์เพิ่มเติม ที่มีอยู่เดิมที่เส้นพาท เพื่อการปรับแต่ง แนวเส้นตามต้องการ

Convert Anchor Point Tool ดัดแปลงแนวเน้นพาทที่ได้ทำไว้ ให้มีโค้ง เอียง ตามต้องการ ดังรูปที่ 6

<..1.เลือกส่วนของภาพด้วย Pen Tool..>
<..2. คลิ้กจนจุดเริ่มต้นกับสุดท้ายมาบรรจบกันจะได้แนวเส้นพาทเกิดขึ้น..>
รูปที่ 6 เลือกส่วนของภาพที่ต้องการด้วย Pen Tool

วาดรูปร่างต่างๆ

ใน Photoshop 7.0 นี้ได้เพิ่มเครื่องมือสำหรับการวาดรูปร่างต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นจากในเวอร์ชันก่อนหน้า ซึ่งมีด้วยกัน 6 ตัว ประกอบด้วย

Rectangle Tool สำหรับวาดรูปสี่เหลี่ยม

Rounded Rectangle Tool สำหรับวาดรูปสี่เหลี่ยมขอบมน

Ellipse Tool สำหรับวาดรูปวงรี

Polygon Tool สำหรับวาดรูปหลายเหลี่ยม

Line Tool สำหรับวาดเส้น

 

Custom Shape Tool สำหรับวาดรูปเหลี่ยม ในแบบที่เราเลือกได้เอง

อธิบายรายละเอียดของภาพ

เราสามารถเพิ่มการอธิบายให้กับภาพได้ทั้งในแบบข้อความธรรมดา และในแบบเสียงได้ ด้วยการใช้ Notes และ Audio Annotation ตามลำดับ ดังนี้

Notes Tool สำหรับใส่คำอธิบายแบบข้อความธรรมดา ให้กับภาพตามที่เราต้องการ ด้วยการคลิ้กลงไปที่ภาพ พร้อมกับกรอกรายละเอียดที่ต้องการเกี่ยวกับภาพในหน้าต่างเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้น เมื่อใครนำไปใช้ก็สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับภาพนี้ได้

 

Audio Annotation Tool สำหรับใส่คำอธิบายแบบเสียง ให้กับภาพตามที่เราต้องการ ด้วยการคลิ้กลงไปที่ภาพ แล้วเริ่มอัดเสียงของเราผ่านทางไมโครโฟน เพื่อบันทึก ลักษณะจะคล้ายกับการอัดเทปเสียง และผู้ที่ใช้ไฟล์นี้ ก็จะสามารถเปิดฟังได้

กำหนดสีจากภาพ ตรวจสอบค่าสี และวัดระยะห่าง

การทำงานกับค่าสี มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะบ่อยครั้งที่เราต้องการสีใดสีหนึ่ง โดยเฉพาะ เราอาจบันทึกค่าสีนั้น ในแบบเลขฐาน 16 ก็ได้ โดยการทำงานกับค่าสีนั้น สามารถทำได้ผ่านทางเครื่องมือ Eye Dropper ซึ่งเครื่องมือในชุดนี้มีด้วยกัน 3 ตัว ประกอบด้วย

Eye Dropper Tool สำหรับเลือกสีที่ต้องการ จากสีของภาพที่บริเวณที่เราต้องการ โดยเราไม่ต้องไปตรวจสอบค่าสีเอง เพียงแค่คลิ้กเมาส์ลงไปที่ภาพ สีใน Color Box ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

Color Sampler Tool สำหรับตรวจสอบค่าสีภายในภาพที่เราต้องการทราบ เพียงคลิ้กลงไปที่ภาพ จะปรากฏหน้าต่างพาเล็ตต์ (Palette) ย่อย Info ทางด้านขวาขึ้นมา ทำให้เราทราบค่าสีทั้งในรูปแบบ RGB, CMYK รวมถึงระยะพิกัด (X, Y) ของภาพที่เราตรวจสอบอยู่ด้วย

 

Measure Tool สำหรับวัดระยะจากจุดหนึ่งของภาพ ไปยังอีกจุดหนึ่ง เพียงคลิ้กเมาส์ที่จุดเริ่มต้นแล้วลากไปยังจุดปลายที่ต้องการวัด ก็จะปรากฏระยะความกว้าง (W) และมุม (A) ที่พาเล็ตต์ Info เช่นเดียวกัน

ขยายมุมมองของภาพให้ง่ายต่อการตกแต่ง

การแก้ไขและตกแต่งภาพที่มีขนาดเล็ก หรือกับการตกแต่งภาพเฉพาะส่วน แน่นอนว่าเราต้องขยายมุมมองของภาพขึ้นมา ซึ่งสามารถทำได้ด้วย Zoom Tool

 

Zoom Tool สำหรับขยายมุมมองของภาพให้มีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงที่ 100% เพื่อให้ง่ายต่อการตกแต่งแก้ไข

เลื่อนดูภาพที่ขยายมุมมอง

เมื่อมีการขยายมุมมองของภาพขึ้นมา เพื่อให้ง่ายต่อการตกแต่งแก้ไขแล้ว บ่อยครั้งที่เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานกับภาพทั้งภาพ ซึ่งเราก็สามารถเลื่อนไปดูส่วนของภาพที่ต้องการได้ด้วย Hand Tool

 

Hand Tool สำหรับเลื่อนดูส่วนของภาพในส่วนที่ต้องการ เมื่อมีการขยายมุมมองของภาพให้มีขนาดใหญ่เกินกว่าขนาดจริงที่ 100% ซึ่งในการทำงานจริงๆ นั้น เรามักจะใช้ ทำงานควบคู่ไปกับ Zoom Tool เสมอ

Toolbox ต้องทำงานร่วมกับแถบตัวเลือกเสมอ

เราได้ทราบแล้วนะครับว่าเครื่องมือใน Toolbox แต่ละตัว มีหน้าที่อะไรบ้างในการตกแต่งภาพ แต่ในการทำงานจริงๆ แล้ว เราต้องใช้งานเครื่องมือใน Toolbox ร่วมกับแถบตัวเลือก หรือ ออปชันบาร์ (Option Bar) ที่อยู่ทางด้านบนเสมอ เพื่อให้เหมาะกับการตกแต่งภาพ สังเกตได้ว่า เมื่อเราคลิ้กที่เครื่องมือตัวใด ส่วนของ Option Bar จะมีตัวเลือกเปลี่ยนไปตามเครื่องมือนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมือ Paint Brush กับการแต่งภาพ เราสามารถเลือกขนาดและรูปแบบของหัวแปรงได้จาก Option Bar ด้านบน เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ของภาพ ซึ่งจะมีทั้งบริเวณที่กว้างและแคบ ได้อย่างเหมาะสม

1. เลือกเครื่องมือ Paint Brush
2.เลือกรูปแบบของหัวแปรงและขนาดจากแถบ
Option Bar ด้านบน

จุดเด่นของโปรแกรม คือเลเยอร์

นอกจากเราควรที่จะทำความเข้าใจในเรื่องการใช้เครื่องมือใน Toolbox แล้ว เราควรเข้าใจด้วยว่าการทำงานกับภาพใน Photoshop จะมีการจัดการในแบบ “เลเยอร์ (Layer)” คือ จะมีการแยกองค์ประกอบหรือส่วนของภาพเป็นชั้นๆ คล้ายกับแผ่นใส ที่วางซ้อนทับกันตามลำดับ เริ่มจากเลเยอร์ Background เสมอ แล้วซ้อนทับไปเรื่อยๆ จนได้ภาพสุดท้าย ซึ่งทำให้ง่ายในการตกแต่งแก้ไข

การตกแต่งแก้ไขภาพ จะแยกเป็นเลเยอร์ สังเกต
จากพาเลตต์ Layer ทางด้านขวาของโปรแกรม
 

พาเล็ตต์ทางด้านขวา ช่วยเสริมการทำงาน

เราได้ศึกษาส่วนประกอบหลักๆ ของโปรแกรมกันไปแล้วไม่ว่าจะเป็น Toolbox, Option Bar และ Layer กันไปแล้ว นอกเหนือจากนี้ เราก็จะทำงานร่วมกับพาเล็ตต์ (Palette) ที่อยู่ทางด้านขวาเป็นครั้งคราว อาทิ Channel Palette เวลาที่ทำงานเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบเรื่องสีของภาพ, Path Palette เวลาที่ทำงานในเรื่องของการสร้าง Path, Swatches Palette เวลาที่ทำงานเกี่ยวกับการเลือกสี หรือ History Palette เวลาที่ย้อนกลับการทำงานหรือ Undo ขั้นตอนการทำงานที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งรายะเอียดจะกล่าวถึง เมื่อเราเริ่มตกแต่งแก้ไขภาพกันครับ

รูปที่ 7 Channel, History และ Swatches Palette

ส่งท้ายก่อนจบตอน

สำหรับตอนที่ 2 นี้ เราได้รู้จักกับการใช้งานเครื่องมือของโปรแกรมครบถ้วน ตลอดจนรู้จักกับองค์ประกอบสำคัญๆ ของ Photoshop 7.0 กันไปแล้ว

สำหรับในตอนหน้า เราจะพูดกันถึงการตกแต่งภาพด้วยการใช้เครื่องมือของ Photoshop และเทคนิคการตกแต่งภาพที่นิยมใช้กันบ่อยๆ ติดตามกันต่อไปครับ

คำถามประจำตอน

1. เครื่องมือสำหรับทำการเลือก (Selection) ใน Photoshop 7.0 มีเครื่องมือใดบ้าง ?
2. เครื่องมือใหม่ใน Photoshop 7.0 ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่มีอะไรบ้าง และใช้สำหรับทำอะไร ?
3. การใช้งาน Toolbox จะควบคู่กับการส่วนใด และสัมพันธ์กันอย่างไร ?
4. การตกแต่ง แก้ไข ภาพใน Photoshop มีลักษณะเด่นอย่างไร ?

เฉลยคำถามประจำตอน

1. มีด้วยกัน 4 ตัวหลักๆ คือ ชุดเครื่องมือ Marquee Tool, Lasso Tool, Magic Wand Tool และ Pen Tool
2. Healing Tool และ Patch Tool ใช้สำหรับลบรอยตำหนิ ริ้วรอย หรือข้อบกพร่องของภาพ นิยมนำมาใช้ในเรื่องของการ Retouch ภาพถ่ายให้ดูสวยงาม แนบเนียน
3. Option Bar และ Pallete โดย Option Bar จะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมของเครื่องมือใน Toolbox ส่วน Palette ทางด้านขวามือ จะเป็นตัวเสริมการทำงาน เวลาที่เครื่องมือมีการอ้างอิงถึงเมื่อใช้งาน
4. ใช้คุณสมบัติของเลเยอร์ โดยแบ่งภาพออกเป็นชั้นๆ คล้ายแผ่นใส ทำให้มีความยืดหยุ่น สะดวก และง่ายในการตกแต่ง แก้ไขภาพ
โดย อุดมทรัพย์ กรรดิพณิชกูล

ใส่ความเห็น